เนื่องจากโรคนี้มีแนวโน้มการระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี และพบว่าประชากรที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มเด็กวัยเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 14 ปี แต่ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกในผู้ใหญ่และมีการเกิดโรคตลอดทั้งปีอีกด้วย การดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกให้ประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพ นั้น จำเป็นต้องระดมความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคและรณรงค์ให้ชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคไข้เลือดออกและร่วมมือกันเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ โดยใช้มาตรการ 5ป. 1ข. ได้แก่ 1.ปิดฝาภาชนะให้สนิท 2.ปล่อยปลากินลูกน้ำ 3.เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ 4.ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 5.ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกวัน และ ขัดล้างไข่ในภาชนะที่มีน้ำขังเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย นอกจากนี้ยังต้องใช้มาตรการ 3 เก็บ ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งเพื่อไม่ให้ยุงลายเกาะพัก 2.เก็บขยะเศษภาชนะที่อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ 3.เก็บน้ำให้มิดชิด ปิดฝาภาชนะ ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้การควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิก้า และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) อีกด้วย